สวัสดีครับคุณผู้อ่านทุกท่านช่วงนี้เป็นช่วงอากาศเปลี่ยนฤดู เข้าสู่ฤดูร้อนกันแล้วนะครับ บางคนก็มีทริปเที่ยวต่างๆ ให้คลายร้อนกัน และช่วงใกล้เทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ไทย บางท่านก็มีการเตรียมเลือกซื้อของขวัญ ของฝาก ให้กับบุคคลที่เคารพนับถือกัน ญาติผู้ใหญ่ บุคคลที่เป็นที่รัก และที่สำคัญก็ไม่ควรลืมที่จะให้ของขวัญกับตนเองด้วยนะครับ
ถ้าจะพูดถึงเรื่องการเลือกซื้อของให้ผู้อื่นนั้นคงจะลำบากไม่เท่าไหร่นัก แต่พอจะเลือกให้ตัวเองล่ะสิครับ คำถามเกิดขึ้นเยอะเลย เช่น จะซื้อเสื้อสีดำที่แขวนโชว์อยู่หน้าร้าน แต่ดันไม่ชอบกระดุมสีทอง ที่ติดมากับเสื้อ หรือชอบรถรุ่นนี้ แต่รุ่นอื่นให้ออฟชั่นเยอะกว่า แถมราคาถูกกว่าด้วย เฮ้อ..โลกก็เป็นแบบนี้ล่ะ อะไรที่เราชอบเมื่อพิจารณามันไปเลื่อยๆ ก็จะเห็นข้อติ ข้อด้อย แล้วถ้าจะเลือกซื้อ 3D Printer ล่ะควรจะทำอย่างไร!!!!
สำหรับใครที่กำลังมองหาเครื่อง 3D Printer มาใช้กันอยู่ วันนี้ผมมีหลักในการเลือกซื้อมาฝากกันครับ แต่ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจธรรมชาติของการซื้อกันก่อน มนุษย์เรามักจะซื้อสินค้าด้วยสองปัจจัยหลัก อย่างแรกคือ อารมณ์ ซึ่งส่วนใหญ่เราจะซื้อสินค้ากันด้วยปัจจัยนี้ซะส่วนใหญ่ เช่น ระหว่างที่เรากำลังเดินไปทานข้าวมื้อค่ำ ช่วงทางผ่านมีร้านขายดอกไม้ คุณกวาดตาไปเห็นดอกลิลลี่ สีเหลืองบานฉ่ำ ก้านยาวตรงเรียวสวย ยังไม่ทันจะถามราคากับคนขายเลย คุณก็จะชี้นิ้วบอกกับคนขายว่า “ เอาดอกลิลลี่นี้ หนึ่งดอก” พร้อมกับหยิบเงินให้กับคนขาย โดยที่ไม่สนใจด้วยซ้ำว่าดอกไม้นี้แหล่งที่ปลูกคือ ที่ไหน? เป็นไม้นำเข้ารึป่าว? คุณจะไม่สนว่า หลังจากซื้อดอกไม้ดอกนั้นแล้วคุณจะทำอะไรกับมันต่อ เอาไปปักแจที่บ้านดีไหม? หลังจากมื้อค่ำแล้วมันจะเหี่ยวไหม? พอหลังจากคุณทานมื้อค่ำเสร็จ คุณเริ่มรู้สึกว่าดอกไม้ที่ถือมานี่มันช่างน่ารำคาญเหลือเกิน จากนั้นคุณก็จะเริ่มหาทางกำจัดดอกไม้นั้นทิ้งไปซะ พอคุณกำจัดมันออกไปได้ คุณจะกลับไปคิดถึงตอนที่ซื้อ ว่าไร้เหตุผลสิ้นดี ซึ่งแบบนี้คงจะไม่มีเหตุผลมาอธิบายเพราะเป็นเรื่องของอารมณ์
ส่วนปัจจัยที่สองคือ การซื้อด้วยเหตุผล ซึ่งอันนี้ล่ะครับที่สำคัญ ในการเลือกซื้อเครื่อง 3D Printer สิ่งที่ต้องตั้งคำถามก่อนเลยคือ “จะเอาไปใช้ประโยชน์อะไร” อย่าปล่อยให้เครื่อง 3D Printer เป็นเหมือนกับดอกลิลลี่ ที่เมื่อซื้อมาแล้วก็ไม่รู้จะจัดการกับมันอย่างไร มาดูกันครับว่าเราจะมีหลักในการตัดสินใจเลือกเครื่อง 3D Printer ด้วยเหตุผล อย่างไรกันบ้าง
โดยผมมีข้อพิจารณาให้ 5 ข้อ เพื่อช่วยในการเลือกซื้อเครื่อง 3D Printer
1. เครื่อง 3DP ที่คุณจะซื้อมีประสิทธิภาพมากพอที่จะตอบโจทย์งานของคุณได้มาแค่ไหน?
2. เครื่อง 3DP นั้นใช้งานง่ายแค่ไหน?
3. เมื่อมีเครื่อง 3DP แล้วจำเป็นต้องมีอุปกรณ์อื่นต่อพ่วงอีกไหม?
4. อันตรายจากเครื่อง 3DP มีหรือไม่?
5. เมื่อเครื่องที่เราซื้อมามีปัญหาใครจะแก้ไขให้ได้?
เริ่มจากข้อแรกผมได้ทำเป็นตารางสรุปเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องแต่ละรุ่นมาให้ดูครับ
จากตารางเราจะเห็นเครื่องทั้งสี่นั้นมีคุณสมบัติที่ไม่ได้แตกต่างอะไรกันมาก แต่การที่เราจะเลือก อะไรนั้นดูแค่สเปคอย่างเดียวไม่พอ เราต้องทดสอบการใช้งานกันก่อนครับ โดยเราได้ทดสอบโดยการให้เครื่องทั้งหมด ปริ้นชิ้นงานรูปแบบเดียวกันตามรูป โดยมีเงื่อนไขว่าหลังจากปริ้นเสร็จแล้วชิ้นงานที่ปริ้นออกมาจะต้องประกอบเข้าได้ด้วยกันพอดี
โดยหลังจากการทดสอบเราพบว่าชิ้นส่วนแต่ละชิ้นที่ทำออกมาก็พอมองออกเป็นรูปเป็นร่างได้ แต่สิ่งที่แต่ต่างกันดูเหมือนจะเป็นเรื่องของสัดส่วนและความแม่นยำที่เครื่องแต่ละยี่ห้อให้ผลลัพธ์ที่ต่างกันออกไป
ดังจะเห็นได้จากรูป ถ้าเรามองผ่านๆ ก็คงไม่ได้สังเกตถึงข้อผิดพลาดอะไรบางอย่างบนตัวชิ้นงาน แต่เหมือนเราลองนำมาใช้งาน ลองมาประกอบ เราก็จะรู้ได้ว่า ผลลัพธ์ที่ได้จากเครื่องตอบโจทย์เราหรือไม่?
ต่อกันที่ข้อสอง “เครื่อง 3DP นั้นใช้งานง่ายแค่ไหน?”
ด้วย Concept ที่ว่า 3D Printing ภาพลักษณ์ของเครื่อง 3D Printer จึงไม่ควรแตกต่างจากเครื่อง Inkjet ที่เราใช้ปริ้นกระดาษและคุ้นเคยกันดี คือต้องง่ายตั้งแต่การตั้งค่าก่อนปริ้นไปจนถึงการบำรุงรักษาเบื้องต้น ลองมาดูจากข้อมูลดังต่อไปนี้ดูนะครับ
หากเรามองเรื่องการใช้งานเครื่องว่า ง่ายหรือยาก ? เป็นแค่เรื่องของซอฟต์แวร์อย่างเดียว เราก็คงไม่พบถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน เราลองมาดูถึงขั้นตอนการขึ้นชิ้นงานกันดูนะครับ
ปัญหาส่วนใหญ่ที่ผู้ใช้มักพบจะเป็นเรื่องหลังจากที่สั่งขึ้นชิ้นงานไปแล้ว จากเครื่องมากกว่า ปัญหาที่เกิดจากซอฟต์แวร์ คือเมื่อขณะที่เครื่องกำลังทำงานอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับวัสดุไม่ถูกฉีดออกมา หรือฉีดออกมาแล้วไม่สมบูรณ์บ้าง อันเนื่องมาจากปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น ความชื้นของวัสดุที่มากจนทำให้คุณสมบัติต่างๆ ของพลาสติกเปลี่ยนไป, การควบคุมอุณภูมิการหลอมละลายของพลาสติกแต่ละชนิดที่ไม่คงที่ (Melting Point), การควบคุมอุณหภูมิ รอบชิ้นงาน (Ambient Temp) ที่จะมีผลต่อการยืดและขยายตัวของชิ้นงาน เป็นต้น ปัจจัยทั้งหมดนี้มีผลทำให้เกิดปัญหาระหว่างขึ้นชิ้นงานได้ ซึ่งหากเครื่องที่มีการออกแบบที่ได้มาตรฐานจะมีการป้องกันปัญหาพวกนี้ไว้อยู่แล้ว ในข้อนี้ผมมีคำแนะนำให้ผู้ที่ต้องการซื้อเครื่องควรเข้าไปขอทดลองใช้งานเครื่องเลยครับว่าง่ายจริงอ่ะป่าว
ข้อสาม “เมื่อมีเครื่อง 3DP แล้วจำเป็นต้องมีอุปกรณ์อื่นต่อพ่วงอีกไหม?”
หลายครั้งที่เราซื้อเครื่องมาแล้วพบว่ายังไม่จบ..ยังต้องมีเครื่องล้างชิ้นงาน, เครื่องสำรองไฟ, คอมพิวเตอร์ เพราะฉะนั้นเราต้องสอบถามกับทางผู้จำหน่ายให้ดีเสียก่อนว่าอุปกรณ์ที่แถมและอุปกรณ์ที่ต้องซื้อเพิ่มมีอะไรบ้าง
สี่ “อันตรายจากเครื่อง 3DP มีหรือไม่?”
เครื่อง 3DP ที่ดีควรต้องเป็นเครื่องที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน (Office Friendly) ซึ่งอาจรวมไปถึงการนำเอาชิ้นงานไปใช้ด้วย จากด้วยตัวอย่างในภาพที่เห็นอยู่นี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงการแกะวัสดุรองรับหรือ Support ออกจากชิ้นงาน ซึ่งโดยปกติแล้ววัสดุลองรับชิ้นงานจะมีแบบคือ แบบ Soluble Support (ละลายตัวได้) และ Break Away (แกะออกด้วยมือ)
ข้อได้เปรียบของการใช้วัสดุรองรับแบบละลายตัวได้คือ เราสามารถลดความเสี่ยงที่จะทำให้ชิ้นงานเสียหายอันเนื่องมาจากการแกะวัสดุรองรับออกจากชิ้นงาน และที่สำคัญคือลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากอุปกรณ์ หรือเครื่องมือที่ใช้แกะวัสดุรองรับออกจากชิ้นงานด้วย
ข้อพิจารณาสุดท้าย “เมื่อเครื่องที่เราซื้อมามีปัญหาใครจะแก้ไขให้ได้?”
อันนี้อาจต้องสอบถามจากทางผู้จำหน่ายให้เคลียร์ก่อนจะมีการซื้อขาย เพราะถ้าเราได้ซื้อกับทางตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ก็จะสามารถวางใจได้ระดับหนึ่งในเรื่องของอะไหล่และทีมงานที่ได้การถ่ายทอดตรงมาจากโรงงานผลิตอีกด้วย ส่วนถ้าเป็นเครื่องที่นำเข้ามาเองแล้วต้องมาประกอบเอง (Set Up) อันนี้สิ่งที่ทำได้อย่างหนึ่งคือ ทำใจครับ…
และท่านไหนที่สนใจและอยากทดสอบการใช้งานเครื่องปริ้น 3D Printer สามารถเข้าไปได้ที่ I AM MAKER : 3D Printer Cafe & Store ท่านสามารถออกแบบและปริ้นชิ้นงานด้วยตัวท่านเอง โดยมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม คลิกที่นี่
บทความ : ชัยวัฒน์ พฤฒิพงศ์พิบูลย์